ประวัติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร
จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดหนึ่งที่เหมาะสมที่จะตั้งสถานีขยายพันธุ์พืชขึ้น จึงได้เริ่มดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2505 โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2505 ได้มาเช่าอาคารในเมืองเป็นที่ทำการชั่วคราวและได้ออกสำรวจเพื่อหาที่ดินที่จะเป็นสถานีฯ โดยยึดนโยบายที่จะหาที่ใกล้ทางหลวง, ใกล้จังหวัดฯ ที่สำคัญได้มาโดยไม่ต้องซื้อ หลังจากได้สำรวจดูทั่วจังหวัดสกลนครแล้ว ก็ตกลงเอาที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งอยู่ริมทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ตรงกิโลเมตรที่ 9+365 หมู่บ้านนาคำ หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับความกรุณาจาก นายแพทย์รำไพ ศิริขันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสกลนครในขณะนั้น เป็นผู้สืบหาให้เป็นที่ 40 ไร่เศษ อยู่ติดทางหลวง และขยายเอาที่รกร้างว่างเปล่าด้านหลังต่อไปอีก 240 ไร่เศษ
เริ่มดำเนินการเปิดป่า,ขุดตอ,ปราบที่ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2505 และดำเนินการก่อสร้างอาคารเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2505 สถานีฯ ทำการเปิดป่าเพื่อทำการทดลอง และขยายพันธุ์พืชได้ 120 ไร่ เป็นที่สร้างอาคารและอื่นๆ 40 ไร่ และในปี 2509 ได้บุกเบิกป่าเพื่อปลูกพืชเพิ่มขึ้นอีก 50 ไร่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกรมกสิกรรม ในปี พ.ศ. 2516 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีทดลองพืชไร่สกลนคร” สังกัดกองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร และในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรมวิชาการเกษตรใหม่ตามโครงการวิจัยเกษตรแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร โดยสถานีทดลองพืชไร่สกลนคร เป็นสถานีเครือข่ายของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สังกัดสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร
ในปีพ.ศ. 2546 กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ตามแผนปฏิรูประบบราชการ และเปลี่ยนชื่อจากสถานีทดลองพืชไร่สกลนคร เป็น “ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสกลนคร” โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในปีพ.ศ. 2552 ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสกลนคร ได้เปลี่ยนชื่อจากศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสกลนคร เป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร” สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์